ขอคัดค้านการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯและคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย)จำกัด

3 กรกฎาคม 2552

เรียน
คุณมาคูส สเปียสโฮเฟอร์ President and Managing Director of Triumph International
คุณดีเตอร์ บราวน์ คุณโอริเวอร์ ไมเคิล สเปียสโฮเฟอร์ Mr. Leonardo innocenzi Corporate Head of Supply Chain
คุณเคนเนต มาร์แชล ผู้จัดการทั่วไป

ตามที่บริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัดซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีการประกาศเลิกจ้างคนงานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ทั้งหมด 1,959 คน เป็นจำนวน 50% ของคนงานทั้งหมดที่ โรงงานบางพลีให้มีผลการพ้นสภาพการเป็นคนงานของบริษัทบอดี้ฯในวันที่ 31สิงหาคม 2552 และคนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯเป็นอนุกรรมการและกรรมการสหภาพแรงงานฯถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 19 คน ในการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯได้อ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” ในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานที่นครสวรรค์ ด้วยการซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานรองรับการผลิตได้เต็มที่ได้ถึง 2,000 คน ในปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุปันก็มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน แต่ไม่มีสหภาพแรงงาน
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯจึงขอคัดค้านการการเลิกจ้างดังกล่าว เพราะเหตุผลในการเลิกจ้างในครั้งนี้ยังไม่สร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจ พวกเราเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน ย้ายฐานการผลิตหาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เป็นการเลิกจ้างคนงานที่ทำงานให้บริษัทฯมาอย่างยาวนานอายุมาก เพราะการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างประสิทธิผลตามที่บริษัทกล่าวอ้างนั้นมีวิธีการที่สร้างสรรค์หลากหลายวิธีมากกว่าการทำลายสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้บริษัทก็ไม่ได้มีมาตราการอื่นที่จะสร้างประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจนเลย
ดังนั้นเพื่อความโปร่งใสขอให้บริษัทฯปฏิบัติต่อสหภาพแรงงานฯและคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด ดังนี้



1. ให้บริษัทฯยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คนและให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติ

2. ให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลตามหลักมาตรฐานแรงงานสากลและแนวปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines) ตามหลัก OECD Guidelines for MNEs การเลิกจ้างเป็นกลุ่มจำนวนมากอย่างนี้ นายจ้างจะต้องปรึกษากับองค์การลูกจ้างและรัฐบาลในการหาทางออกเพื่อลดผลกระทบต่อคนงานให้มากที่สุด ขอให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส สร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจในการบริหารจัดการที่ดีให้กับสหภาพแรงงานฯและคนงานของบริษัททั้งหมด
บริษัทต้องเปิดโอกาสให้องค์กรของลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเข้าร่วมการปรึกษาหารือกับฝ่ายบริหารในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนงาน จะเป็นการลดความตึงเครียด ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายแรงงานกับฝ่ายบริหาร เพราะการปรึกษาหารือเป็นการเคารพในสิทธิมนุษยชนของคนงาน เป็นหลักปฏิบัติที่ใช้กันในสังคมประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้คนงานได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมต่อไป

3. ให้บริษัทฯปฏิบัติตาม CODE OF CONDUCT ของกลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ฯ ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังที่กล่าวไว้ในปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the “General Declaration Of Human Rights”) และพร้อมใจปฎิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องขององค์กรแรงระหว่างประเทศ ( ILO) และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านกฎระเบียบและการพัฒนาการปฎิบัติงานและสภาวะทางเศรษฐกิจ

ฉะนั้นสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะยอมรับสหภาพแรงงานรวมถึงยกเลิกแผนการเลิกจ้างทั้งหมดให้ใช้หลักปฏิบัติต่างๆของท่านที่ท่านรับรองไว้อย่างเคร่งครัด จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านดำเนินการ
จึงขอขอบคุณมา ณ. โอกาสนี้


ขอแสดงความนับถือ


นางสาววันเพ็ญ วงษ์สมบัติ
ประธานสหภาพแรงงาน

0 comments:

Leave a Reply

Blog Archives

Featured Video







24 July 2009 | At Central World Part 1



24 July 2009 | Gaysorn Plaza Part 2



24 July 2009 | Central Chidlom Part 3



24 July 2009 | British Embassy 4



24 July 2009 | Embassy of Switzerland 5



24 July 2009 | Embassy of Switzerland 6



24 July 2009 | Embassy of Switzerland 7



24 July 2009 | Embassy of Switzerland 8

Photos

TLUprachathai.com
From Triumph Protest Site
From Triumph Protest Site
From Triumph Protest Site
From Triumph Protest Site
From